ว่านนางคำ

ว่านนางคำ

ข่าวดี......สมุนไพรต้านมะเร็ง


วิจัย..สมุนไพรต้านมะเร็ง ในรูปแบบของอาหาร ประจำวัน
มะเร็ง คือ โรคร้าย...ที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้ทุกชนชั้น แม้ว่าจะไม่ฉับพลันเหมือนอุบัติเหตุ แต่มันก็ร้ายกว่าคือสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน..เพื่อบรรเทาต่อความเลวร้าย...คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้คิดค้นปัดฝุ่น เอาสมุนไพรไทยมาช่วยบำบัด คือทั้งให้เป็นโอสถสารและอาหารประจำวัน ทดแทนการบำบัดด้วยสารเคมีและการฉายรังสี รศ.พรทิพย์ เชื้อมโนชาญ รองคณบดีเครือข่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ พูดถึงความเป็นมาว่า คณะเภสัชศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีอาการข้างเคียงต่างๆจึงร่วมกับ มูลนิธิต่อต้านโรคมะเร็งภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ จัดทำ “โครงการดูแลและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยมะเร็งด้วยสมุนไพรไทย” ใน บ้านนันทราษฎร์ ซึ่งเป็นบ้านพักผู้ป่วยมะเร็ง โดยการทำสวนสมุนไพรในบริเวณบ้านพัก เพื่อเป็นแหล่งสมุนไพรให้ผู้ป่วยและญาติสามารถนำสมุนไพรไปใช้และให้ความรู้เกี่ยวกับ การลดอาการข้างเคียง กิจกรรมในการนำสมุนไพรมาใช้ในผู้ป่วยนั้น จักต้องให้ความรู้และความเข้าใจ แก่ผู้ป่วยและญาติไปพร้อมๆกัน จึงจะได้บรรลุผลตาม ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว จาก ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ บอกว่า การดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยด้วยสมุนไพรและผักพื้นบ้าน เป็นการสร้างความสำคัญ ให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและ...สมุนไพรกับผักพื้นบ้านนั้น ต้องไม่ส่งผลรบกวนต่อการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่ผู้ป่วยมะเร็งได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีซึ่งมีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถลดอาการข้างเคียงของผู้ป่วยมะเร็ง ที่สำคัญสมุนไพรและผักพื้นบ้านของไทยหลายชนิดให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี จึงเหมาะที่จะนำมาดูแลสุขภาพในรูปแบบของอาหารสมุนไพรที่พบว่าให้ผลในการรักษาและมีความปลอดภัยสูง มีหลายชนิด เช่น กระชาย และ ขิง ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ Volatile oil ประมาณ 0.08-2% ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ... บอระเพ็ด ใช้เพื่อรักษาอาการเบื่ออาหาร ไพล มีองค์ประกอบสำคัญ คือ Volatile oil, curcumin และมีสารในกลุ่ม phenylbutanoids ที่ให้ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการเคล็ดขัดยอกฟกช้ำ ฟ้าทะลายโจร ใช้รักษาอาการเบื่ออาหาร ข้อควรระวังในการใช้ คือ อาจเกิดอาการปวดท้อง ปวดเอว เวียนหัว ซึ่งนั่นแสดงว่าเกิดอาการ แพ้ยา...ควรหยุดยา โดยเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน เพราะเป็นยาเย็น จะทำให้มือและเท้าชาอ่อนแรง. มะแว้งเครือ หรือ มะแว้งต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว ยังบอกต่ออีกว่า.ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานผักพื้นบ้าน เช่น ผักที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ใบชะพลู ผักแพว ใบยอ ผักกะเฉด ยอดแค สะเดา สะแล มะเขือพวง ขี้เหล็ก ใบเหลือง ผักแส้ว กระถิน ตำลึง ผักฮ้วน ผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ ใบย่านาง ผักแพว ตำลึง ยอดแค ใบกะเพรา ผักแว่น ใบแมงลัก ชะอม ฟักทอง ผักที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ผักกูด ขมิ้นขาว ผักแว่น ใบแมงลัก ใบกะเพรา ยอดมะกอก กระถิน ชะพลู ขี้เหล็ก ผักแขยง ผักที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ดอกขี้เหล็ก ดอกและยอดผักฮ้วน มะรุม พริก ยอดสะเดา มะระขี้นก ผักหวาน ผักเชียงดา ผักขี้หูด ผักแพว รศ.พาณี ศิริสะอาด อาจารย์ผู้ร่วมโครงการ หนึ่งในทีมงานวิจัยสมุนไพรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า.การนำพืชผักมาให้ผู้ป่วยรับประทานได้อย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ควรใส่ใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง มักมีร่างกายซูบผอม เนื่องจากมีความรู้สึกหดหู่ ขาดกำลังใจ มีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้หรือเบื่ออาหาร ....จึงต้องปรับวิธีการปรุงอาหาร ทั้งการให้ผักสดปั่น ผักต้มปั่นและธัญพืชปั่น ซึ่งมีพืชผักหลายชนิดที่นำมาปั่นได้ เช่น มะเขือเทศ มะนาว ผักกาดหอม เมล็ดถั่ว เป็นต้น ซึ่งการปั่นจะทำให้ไม่ต้องเคี้ยวนาน ลดภาระการย่อย ทำให้ดูดซึมได้เร็วได้รับทั้งสารอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และสรรพคุณด้านยา เมื่อผู้ป่วยมะเร็งแข็งแรงระดับหนึ่ง แล้วก็สามารถรับประทานอาหารพื้นบ้านรสไม่จัด ก็อยากจะแนะนำเสริมว่า ควรรับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรและพืชผักพื้นบ้านเป็นทางเลือกเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ที่จะนำไปปรับใช้เพื่อลดอาการข้างเคียงและเสริมสร้างสุขภาพ ทั้งตัวผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแล ซึ่งต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นสำคัญ. และที่ขาดไม่ได้คือ การให้ความรัก เอาใจใส่ ทำให้ มีกำลังใจ และ มีความสุข...ก็จะสามารถ ต่อสู้โรคร้าย ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกอย่างยาวนาน

ละหุ่ง

ละหุ่ง

ความหมายของสมุนไพร

สมุนไพร หมายถึง พืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ การใช้สมุนไพรสำหรับรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ นี้ จะต้องนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันซึ่งจะเรียกว่า "ยา" ในตำรับยา นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังอาจประกอบด้วยสัตว์และแร่ธาตุอีกด้วย เราเรียกพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของยานี้ว่า "เภสัชวัตถุ"พืชสมุนไพรบางชนิด เช่น เร่ว กระวาน กานพลู และจันทน์เทศ เป็นต้น เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาสำหรับขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ พืชเหล่านี้ถ้านำมาปรุงอาหารเราจะเรียกว่า "เครื่องเทศ" ในพระราชบัญญัติยาฉบับที่ 3 ปีพุทธศักราช 2522 ได้แบ่งยาที่ได้จากเภสัชวัตถุนี้ไว้เป็น 2 ประเภทคือ
1. ยาแผนโบราณ หมายถึง ยาที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณหรือในการบำบัดโรคของสัตว์ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นยาแผนโบราณ หรือได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
2. ยาสมุนไพร หมายถึงยาที่ได้จากพืชสัตว์แร่ธาตุที่ยังมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพสมุนไพรนอกจากจะใช้เป็นยาแล้ว ยังใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ใช้เตรียมเป็นเครื่องดื่ม ใช้เป็นอาหารเสริม เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง ใช้แต่งกลิ่น แต่งสีอาหารและยา ตลอดจนใช้เป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม มีสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีพิษ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้เกินขนาดจะมีพิษถึงตายได้ ดังนั้นการใช้สมุนไพรจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันมีการตื่นตัวในการนำสมุนไพรมาใช้พัฒนาประเทศมากขึ้น สมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการ สมุนไพรกับสาธารณสุขมูลฐาน โดยเน้นการนำสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาโรคในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐมากขึ้น และ ส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ภายในหมู่บ้านเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรมากยิ่งขึ้น อันเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยประเทศชาติประหยัดเงินตราในการสั่งซื้อยาสำเร็จรูปจากต่างประเทศได้ปีละเป็นจำนวนมาก

วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551



มะกรูด
Leech Lime, Kaffir LimeCitrus hystrix D.C.
วงศ์ :Rutaceae
ชื่อท้องถิ่น :มะขูด มะขุน ส้มกรูด ส้มมั่วผี
ลักษณะ :มะกรูดเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว โดยใช้ผิวของผลเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหลายชนิด ใช้เข้าเครื่องหอมโดยเป็นส่วนผสมในเทียนอบ ใบมะกรูดมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นในอาหารคาวหลายชนิดเช่น ต้มยำ แกงเผ็ด น้ำมะกรูดใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยวและดับกลิ่นคาวปลาคนโบราณนิยมสระผมด้วยน้ำมะกรูด เพราะช่วยให้ผมดำเป็นมันไม่แห้งกรอบ คนไทยนิยมปลูกมะกรูดไว้ตามบ้านและในสวน มะกรูดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ใบมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระมีปุ่มนูนและมีจุกที่หัวของผล
ส่วนที่ใช้ คือ ใบและผลสารสำคัญ ในใบและผลมะกรูด เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณ 0.08 % และ4 % ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูดมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน, ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลักส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล, ไอโซพูลิโกลและไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซีและกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ทับทิมแก้มะเร็ง


คณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ยกย่องสรรพคุณของน้ำผลทับทิมคั้น ในทางบำรุงเลือดลมว่า ไม่แพ้ยา “ไวอากร้า” อันเป็นยาแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของบุรุษ หน่วยงานวิจัยด้านมะเร็งนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดขององค์การอนามัยโลก ประกาศจะขึ้นบัญชีการทำงานกลางคืน เทียบเท่ากับว่าเป็นสารก่อมะเร็ง การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นบนพื้นฐานการทบทวนงานวิจัยหลายชิ้นที่พบอัตราการเป็นมะเร็ง ทรวงอก และมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นในหมู่ชายหญิงที่ทำงานตอนกลางคืน สมาคมโรคมะเร็งกล่าวว่า จะดำเนินตามคำวินิจฉัยนั้น แต่ยังคงพิจารณาว่าความเชื่อมโยง ของมะเร็งจากการทำงานยังอยู่ในขั้น “ไม่แน่นอน” หรือ “ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้” เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น ในกลุ่มคนทำงานกะดึก เว็บไซต์ของสมาคมฯยังมีข้อสังเกตว่าสารก่อมะเร็งไม่เป็นเหตุ ให้เกิดมะเร็งเสมอไป ถ้าหากทฤษฎีการทำงานกลางคืนพิสูจน์ได้ในที่สุดว่าเป็นจริงนั้นจะทำให้คนเรือนล้านทั่วโลก ได้รับผลจากทฤษฎีนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดประมาณว่าเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรวัยทำงานในประเทศพัฒนาแล้วเป็นคนทำงานกะกลางคืน เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์คาดหมายถึงความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานกะดึกกับการเกิดมะเร็ง เพราะว่ามันเข้าไปขัดจังหวะการทำงานของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย และฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งสามารถกดการเติบโตของก้อนเนื้อนั้น โดยปกติจะมีการผลิตขึ้นมาในเวลากลางคืน “การนอนไม่พอจะทำให้ระบบภูมิคุ้มโรคอ่อนแอถูกจู่โจมได้ง่ายและสามารถต่อสู้ กับเซลล์มะเร็งได้น้อยลง” มาร์ค รี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไลท์ รีเสิร์ช ที่สถาบันโพลีเทคนิคเรนส์เซลเลอร์ ในนิวยอร์ก กล่าว.


จันทน์กระพ้อ
Vatica diospyroides Syming DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : เขี้ยวงูเขา จันทน์พ้อ รูปลักษณะไม้ยืนต้น สูง 6-15 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 15-20 ซม. ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ กิ่งก้านและปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวนวล หรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมจัด ผลแห้ง รูปเกือบกลม สีน้ำตาล เปลือกแข็ง มีขนนุ่มละเอียด สีน้ำตาลสรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยาดอก - เข้ายาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ

วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กลุ่ยาแก้บิด ท้องเดิน ท้องร่วง โรคกระเพาะ

โมกหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Holarrhena pubescens Wall. ex G. Don
วงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่ออื่น : ซอทึ, พอแก, ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); พุด (กาญจนบุรี); พุทธรักษา (เพชรบุรี); มูกมันน้อย, มูกมันหลวง, มูกหลวง, โมกเขา, โมกทุ่ง, โมกหลวง (ภาคเหนือ); โมกใหญ่ (ภาคกลาง); ยางพูด (เลย); หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 3.5-14 ซม. ยาว 7-30 ซม. ก้านใบยาว 0.4-1.2 ซม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ รูปรีหรือขอบขนาน โคนใบป้านหรือรูปลิ่ม ปลายเรียวแหลม หรือเป็นติ่งแหลม ขอบเรียบ ผิวใบด้านบนและด้านล่างเป็นมัน เกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม ดอกช่อแบบช่อกระจุก ดอกย่อยมีก้าน ดอกย่อยที่ด้านข้างเท่ากัน มีขนาดเล็กกว่าดอกย่อยที่ตรงกลางช่อ ช่อดอกยาว 4-14 ซม. ก้านช่อยาว 0.9-3.5 ซม. หรือไม่มีก้านช่อ ทุกส่วนเกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม ดอกย่อยประกอบด้วย ก้านดอกย่อยสั้นมากหรือไม่มีก้าน ก้านดอกย่อย วงกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก ปลายของแต่ลุแฉกแหลม วงกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปดอกเข็ม ปลายแยก 5 แฉก กว้างประมาณ 0.4-0.8 ซม. ยาวประมาณ 0.7-2.3 ซม. สีขาว รูปขอบขนาน ปลายมน เกสรเพศจำนวน 5 อัน แยกกัน เกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ ผลแตกแนวเดียว รูปแถบเรียวยาว กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 37-45 ซม. ก้านผลยาว 1.6-2.5 ซม. เมล็ดจำนวนมาก มีปีกบางส่วนที่ใช้ : เปลือกต้น ใบ ผล เมล็ดใน กระพี้ แก่น ราก
สรรพคุณ :
เปลือกต้น - แก้บิด แก้ไข้พิษ
ใบ - ขับไส้เดือนในท้อง
ผล - ขับโลหิต
เมล็ดใน - แก้ไข้
กระพี้ - ฟอกโลหิต
แก่น - แก้โรคกลาก
ราก - ขับโลหิต
วิธีและประมาณที่ใช้ แก้บิด แก้ไข้พิษ
ใช้เปลือกต้นโมกหลวง ครึ่งกำมือ (6-10 กรัม) ผสมกับผลมะตูมแห้ง อย่างละเท่า ๆ กัน รวมกับเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน ตำให้เป็นผง ผสมน้ำผึ้ง ทำเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือใช้ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง

กันเกรา

กันเกรา
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Fagraea fragrans Roxb.
วงศ์ : Gentianaceae
ชื่ออื่น : มันปลา (ภาคเหนือ,อีสาน) ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้) ตะมะซู ตำมูซู (มลายู-ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล พอต้นแก่จะแตกเป็นร่องลึกตามยาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน หนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรี กว้าง 4+6 ซม. ยาว 8-12 ซม. ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ พอเริ่มบานเป็นสีขาว เมื่อบานเต็มที่เป็นสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกแหลม เกสรเพศผู้ยาวติดกับกลีบดอก เกสรเพศเมียยาวมี 1 อัน ผล รูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว พอสุกเป็นสีแดง เมล็ดเล็ก สีน้ำตาลไหม้ส่วนที่ใช้ : แก่น
สรรพคุณ : แก่น - รสมัน เฝื่อน ฝาดขม บำรุงไขมันในร่างกาย บำรุงธาตุ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้จับสั่น แก้หืดไอ ริดสีดวง ท้องมานลงท้อง มูกเลือด แน่นหน้าอก บำรุงม้าม แก้เลือดพิการ ขับลม
มะลิลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Jasminum Sambac (L.) Aiton
ชื่อสามัญ : Arabian jasmine
วงศ์ : OLEACEAE
ชื่ออื่น : มะลิ, มะลิลา (ทั่วไป), มะลิซ้อน (ภาคกลาง), มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิป้อม (ภาคเหนือ), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่ม บางพันธุ์เป็นไม้รอเลื้อย สูง 0.3-3 เมตร ใบเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อย ใบเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ดอกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ดอกสีขาว โคนดอกติดกันเป็นหลอด สีเขียวอมเหลือง ดอกกลางบานก่อน กลีบเลี้ยงแยกเป็นส่วน 7-10 ส่วน มีขนละเอียด ยาว 2 1/2-7 ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด ยาว 7-15 มม. ส่วนปลายแยกเป็นส่วนรูปไข่ แกมรี สีขาว อาจมีสีม่วงด้านนอกหรือเมื่อดอกร่วงยาว 8-15 มม. ดอกอาจซ้อนหรือลา ผลสด (berry) สีดำ แต่ยังไม่พบใน กทม. ดอกมีกลิ่น หอม ออกดอกตลอดปี แต่ดอกมีน้อยในฤดูหนาว ส่วนที่ใช้ : ใบ ราก ดอกแก่
สรรพคุณ :
ใบ, ราก - ทำยาหยอดตา
ดอกแก่ - เข้ายาหอม แก้หืด บำรุงหัวใจ
ราก - ฝนรับประทาน แก้ร้อนใน, เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน
ใบ - ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะพร้าวใหม่ๆ นำไปลนไฟ ทารักษาแผล ฝีพุพอง แก้ไข้ ขับน้ำนม
วิธีใช้ : ใช้ดอกแห้ง 1.5 - 3 กรัม ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนดื่มสารเคมี :
ดอก พบ benzyl alcohol, benzyl alcohol ester, jasmone, linalool, linalol ester
ใบ พบ jasminin sambacin

ยาบำรุงหัวใจ

กุหลาบมอญ
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Rosa damascena Mill.
ชื่อสามัญ : Rose, Damask rose
วงศ์ : Rosaceae
ชื่ออื่น
: กุหลาบออน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) , ยี่สุ่น (กรุงเทพฯ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนาม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก รูปไข่ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบจักเป็นฟันเลื่อย ออกดอกเป็นช่อดอกสีชมพูหรือสีแดง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง อยู่รวมเป็นกระจุก 3-5 ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันหลายชั้นเมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5-7 ซม. มีกลิ่นหอมแรงมากดอกดกและบานได้หลายวัน ออกดอกตลอดปีส่วนที่ใช้ : ดอกแห้ง และสด
สรรพคุณ : ดอกแห้ง - เป็นยาระบายอ่อนๆ - แก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ
ดอกสด- กลั่นให้น้ำมันกุหลาบ แต่งกลิ่นยาและเครื่องสำอาง
วิธีใช้ - ใช้ดอกแห้งเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ

แก้อ่อนเพลีย



จันทน์ลูกหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros decandra Lour.
วงศ์ : Ebenaceae
ชื่ออื่น : จันอิน จันโอ จันขาว จันลูกหอม อิน (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลแข้มอมเทา กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม กิ่งก้านเหนียว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 7-10 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมันลื่น สีเขียวเข้ม ดอก ดอกแยกเพศอยู่ต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเดี่ยว ดอกสีขาวนวล กลีบดอกเชื่อมติดกันสั้นๆ ผล รูปกลมแป้นเรียกว่า ลูกจัน ไม่มีเมล็ด ผลกลม เรียกว่า อิน มีเมล็ด ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอม รับประทานได้ ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดทนส่วนที่ใช้ : เนื้อไม้ ผล
สรรพคุณ :
เนื้อไม้ - มีรสขม หวาน ทำให้เกิดปัญญา บำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ไข้ แก้ปอดตับพิการ แก้ดีพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เหงื่อตกหน้า ขับพยาธิ
ผล - ผลสุกสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม มีรสหวานและฝาดเล็กน้อย รับประทานกับน้ำกะทิสดเป็นอาหาร

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ
ชื่อวิทยาศาตร์
Ganoderma lucidum (Leyss ex. Fr.) Karst.1
ลักษณะของพืช
ดอกเห็ดเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มที่มีโคนติดกันกลุ่มละ 3-4 ดอก เกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มที่มีโคนติดกันกลุ่มละ 3-4 ดอก ดอกเห็ดมีรูปร่างคล้ายพัดซึ่งมีก้านหรือไม่มีก้าน ขนาดดอกใหญ่ 8x20x3-4 ซม. ดอกเห็ดที่มีก้าน ก้านจะเกิดอยู่กึ่งกลางหรือค่อนไปข้างใดข้างหนึ่งของดอก ผิวหมวกเห็ดมีลักษณะเป็นมันเงาคล้ายทาด้วยแชลแลคสีน้ำตาลแดง อาจมีเหลืองหรือสีขาวบริเวณขอบหมวก เนื้อเยื่อภายในดอกเห็ดเป็นเส้นใยสีน้ำตาล ใต้หมวกมีรูเล็กๆ สีขาวหรือเหลืองอ่อน ซึ่งเมื่อเวลาแก่หรือจับต้องจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม สปอร์มีสีน้ำตาล รูปวงกลมรี ปลายบนมีผิวหน้าตัด ผนังหนาเป็น 2 ชั้น และมีหนามที่มียอดแหลมชี้ไปที่ผนังชั้นนอกแต่ไม่ทะลุผิวนอก ผิวนอกของสปอร์เรียบ เห็ดชนิดนี้จัดเป็นปราสิต ของรากพืชยืนต้น เวลาออกดอกจะออกตามบริเวณโคนต้นหรือบนตอไม้ของพืชที่ตาย1
ส่วนที่ใช้ทำยา
ดอกเห็ด1
สรรพคุณและวิธีใช้
สำหรับประเทศจีนได้ใช้เป็นยาสมุนไพรและบำรุงกำลังทำให้แข็งแรง1-
ผลิตภัณฑ์
1. ดอกแห้ง สำหรับชงน้ำดื่ม2. สารสกัดเห็ดหลินจือในรูปแคปซูล3. เครื่องดื่มเห็ดหลินจือ อาจจะมีการปรุงแต่งรส และกลิ่น4. เห็ดหลินจือบรรจุใน Tea Bag ชงน้ำร้อนดื่มสรรพคุณ สารอาหารที่มีอยู่ในเห็ดหลินจือ จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนของโลหิต เช่น โรคที่เกิดจากการมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เส้นเลือดอุดตัน หลอดเลือดแข็งตัว ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคหัวใจ และรอบเดือนไม่ปกติของสตรี ระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท้องผูก ทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรัง ริดสีดวงทวาร และอื่นๆ

มะแว้งเครือ

มะแว้งเครือ
ชื่อวิทยาศาตร์
Solanum trilobatum Linn.1
ชื่อท้องถิ่น
แขว้งเคีย (ตาก)1
ลักษณะของพืช
เป็นไม้เถาแกมไม้พุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามโค้งแหลม ๆ ทั่วไป แต่ไม่มีขน ใบเป็นใบเดี่ยว ติดเรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย และมักเป็นกระจุกตามปลาย ๆ กิ่ง ใบป้อมกว้าง 1.5-5 ซม. ยาว 1.5-6 ซม. โคนใบป้านกว้าง ปลายใบมน เนื้อใบบาง เกลี้ยง สีเขียวอ่อนท้องสองด้าน ขอบใบหยักเป็นคลื่นเว้าแหว่ง ก้านใบมีหนาม ดอกสีม่วง ออกรวมกันเป็นกระจุกเป็นพวงตามง่ามใบ หรือตรงข้ามกับใบ ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 3 ซม. ช่อเกลี้ยงไม่มีขน แต่มีหนาม กลีบรองกลีบดอกมี 5 แฉกแหลมๆ เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง กลีบดอกมี 5 แฉกเช่นกัน โคนกลีบติดกันเป็นพืดด้านนอกของกลีบมีขนประปราย ส่วนด้านในเกลี้ยงเกสรผู้จะเห็นแต่อับเรณูดูเป็นหลอด รวมกันเป็นกระจุกสีเหลืองอยู่ตรงกลาง หลอดท่อรังไข่เกลี้ยง ยาวยื่นเหนืออับเรณูมาเล็กน้อย ผลกลมเกลี้ยง อุ้มน้ำ โตวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ผลสุกสีแดง และภายในมีเมล็ดมาก2
ส่วนที่ใช้ทำยา
ผลสด2,3
สรรพคุณและวิธีใช้
แก้ไอและขับเสมหะ- 1. เอาผลมะแว้งเครือสด ๆ 5-6 ผล นำมาเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายกากทิ้งเสีย บำบัดอาการไอได้ผลชะงัด- 2. ใช้ผลสด ๆ 5-10 ผล โขกพอแหลกคั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ2,3
ผลิตภัณฑ์
ยาอมมะแว้ง สรรพคุณ แก้ไอ ขับเสมหะ

แปะก๊วย



แปะก๊วย
ชื่อวิทยาศาตร์
Gingko biloba Linn.1
ลักษณะของพืช
เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-25 ม. ทุกส่วนไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขาห่าง ๆ เปลือกสีเทาต้นแก่เปลือกสีน้ำตาลอมเหลือง ใบออกมาจากปลายกิ่งสั้น กิ่งละ 3-5 ใบ รูปพัดจีน กว้าง 5-8 ซม. ยาวประมาณ 8 ซม. ปลายใบเว้าตรงกลาง มีรอยเว้าตื้น ๆ หลายแห่ง หรือเป็นคลื่น โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบเรียงถี่ ๆ เป็นรูปพัด ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม ก่อนผลัดใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบเรียวยาว ดอกเป็นดอกแยกเพศ และอยู่ต่างต้นกัน ออกที่ปลายกิ่งสั้น บริเวณเดียวกับที่เกิดใบ ดอกเพศผู้แต่ละกิ่งจะออกประมาณ 4-6 ช่อ ลักษณะช่อเป็นแท่งห้อยลง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูติดที่ปลายก้านเกสร มี 2 ลอน ดอกเพศเมียออกกิ่งละ 2-3 ดอก ดอกมีก้านยาว ที่ปลายก้านมีไข่ 2 เมล็ด ไข่ไม่มีรังไข่หุ้ม แต่มักจะเจริญเติบโตเพียงเมล็ดเดียว ผลรูปค่อนข้างกลมหรือรีมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. เป็นผลชนิดมีเนื้อนุ่มแต่เมล็ดแข็ง เมื่อสุกสีเหลือง ผิวสีนวล กลิ่นค่อนข้างเหม็น เมล็ดรูปรีหรือรูปไข่ เปลือกแข็ง สีออกเหลืองนวล เนื้อภายในเมล็ดเมื่อทำให้สุกใช้เป็นอาหารได้ทั้งคาว และหวาน เรียกว่า "แปะก๊วย"1
ส่วนที่ใช้ทำยา
ใบ เมล็ด1
สรรพคุณและวิธีใช้
สารสกัดจากใบ มีฤทธิ์ในการช่วยไหลเวียนของโลหิต มีฤทธิ์ฆ่าแมลงศัตรูพืช เมล็ด กินได้เมื่อขจัดสารพิษออกแล้ว ใช้เป็นยาฝาดสมาน ระงับประสาท ขับเสมหะ แก้ไอ หืดหอบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือด ขับพยาธิ ลดไข้และสารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาชีวนะต่อเชื้อวัณโรค- เปลือกเมล็ด มีฤทธิ์กัดทำลาย เมื่อสัมผัสจะทำให้ผิวหนังอักเสบ และมีผู้นำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง1
ผลิตภัณฑ์
ยาเม็ดซึ่งมีสารสกัดจากใบแปะก๊วยแห้ง สรรพคุณ บำรุงสุขภาพ และใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับสมอง การได้ยิน การทรงตัว
ที่มา

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โสม

โสม (Ginseng) เป็นสมุนไพรจากธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และได้มีการนำมาใช้ประโยชน์นานนับพันปีแล้ว สรรพคุณของโสมที่เด่นที่สุดคือ ใช้เพื่อบำรุงสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งยกให้โสมเป็นยาอายุวัฒนะ ที่สามารถรักษาโรคได้สารพัดชนิดเลยทีเดียว
สาร Adaptogens ในโสม มีคุณสมบัติลดความเครียด ช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้ทนต่อภาวะต่างๆ ได้มากขึ้น และยังช่วยลดความเมื่อยล้า โดยกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น นอกเหนือจากสรรพคุณที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีรายงานผลการวิจัยของโสมเพิ่มเติมอีกดังต่อไปนี้
โสมมีส่วนช่วยเพิ่มการสร้างพลังงาน ทำให้นักกีฬามีความทนทานต่อการออกกำลังหนักได้ดีขึ้น และทำให้สามารถนำพาออกซิเจนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง โดยการสร้างสาร Interferon ซึ่งเป็นสารต้านเชื้อไวรัส และกระตุ้นการสร้างโปรตีน Interleukin- 1
ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยหมดประจำเดือน
ลดการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดจากต่อมหมวกไต
ลดอัตราการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ
ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ
ลดอาการข้างเคียงจากการฉายรังสี จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณมากมาย ตั้งแต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในเวลาที่อ่อนเพลีย ช่วยสร้างพลังงานกับร่างกาย ลดภาวะซึมเศร้า เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงการเสริมสร้างระบบความจำของสมอง ถึงแม้ว่าการรับประทานโสมอาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับได้บ้าง แต่ในปัจจุบันยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงจากการใช้โสม (การใช้โสมหรือสมุนไพรอื่นๆ ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์หรือเภสัชกร)

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แก้เจ็บคอ

ฟ้าทะลายโจร ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.) Wall. ex Neesวงศ์ : Acanthaceaeชื่ออื่น : คีปังฮี (จีน) ฟ้าทะลายโจร หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน
ลักษณะ : ไม้ล้มลุก สูง30-60 ซม.ทั้งต้นมีรสขม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งออกเป็นพุ่มเล็ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 2-3 ซม. ยาว4-8 ซม. สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กกลีบดอกสีขาว โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีแดงเข้มพาดตามยาว ปากล่างมี 2 กลีบ ผลเป็นฝักสีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็นสองซีก ดีดเมล็ดออกมา
ประโยชน์ทางสมุนไพร : ชาวจีนใช้ฟ้าทะลายเป็นยามาแต่โบราณ และมาเป็นที่นิยมใช้ในปะเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยใช้เฉพาะใบหรือทั้งต้นบนดินซึ่งเก็บก่อนที่จะมีดอกเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ เป็นยาขมเจริญอาหาร การศึกษาฤทธิ์ลดไข้ในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดไข้ได้ รายงานการใช้รักษาโรคอุจจาระร่วงและบิดไม่มีตัว แสดงว่าฟ้าทะลายมีประสิทธิภาพในการรักษาเท่ากับเตตราซัยคลินแต่ในการรักษาอาการเจ็บคอนั้นมีรายงานทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผลขนาดที่ใช้คือพืชสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือใช้พืชแห้งบดเป็นผงละเอียดปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 ซม. กินครั้งละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน สำหรับผงฟ้าทะลายที่บรรจุแคปซูล ๆ ละ 500 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น อาการข้างเคียงที่อาจพบคือ คลื่นไส้